วิธีทำ DST (Digital Screen Transfer)

วิธีทำ DST (Digital Screen Transfer)

 

ภาษาไทย

English Version

 

เทคนิคการเรียนรู้ทุกขั้นตอนการพิมพ์ด้วยฟิล์ม DST (Digital Screen Transfer) อย่างละเอียด

 

เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยเจอปัญหาในการรับออเดอร์งานสกรีนที่มีหลายๆ สีในจำนวนที่น้อยอาจทำให้ไม่คุ้มค่า แต่ในยุคแห่งความไฮเทคนี้ปัญหาเดิมๆ จะหมดไป เพราะมีงานสกรีนที่ผสมผสานกับระบบดิจิตอลอย่างการใช้ฟิล์ม DST (Digital Screen Transfer) ที่ลงทุนต่ำที่สุดและจำนวนต่อตัวถูกที่สุด และที่สำคัญแม้จะไม่ใช่มืออาชีพก็สามารถทำเองได้ ซึ่งงานพิมพ์ด้วยการใช้ฟิล์ม DST เหมาะสำหรับสกรีนโลโก้แบรนด์ หรือเสื้อที่ต้องการออกแบบสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

 

ความแตกต่างของการพิมพ์ DST กับการพิมพ์ตั้งเดิม

DST เป็นการผสมผสานระหว่างการพิมพ์แบบซิลค์สกรีนและเทคโนโลยีการพิมพ์เลเซอร์ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถพิมพ์สีได้อย่างเต็มรูปแบบบนเสื้อผ้าที่ต้องการ โดยสามารถถ่ายได้ในบล็อกสกรีนเดียวเป็นการทำงานโดยไม่จำกัดสี เมื่อเทียบกับซิลค์สกรีนแบบดั้งเดิมที่มีการใช้สีในการพิมพ์หลายขั้นตอน บล็อกสกรีนหลายบล็อก โดยการใช้ฟิล์ม DST สามารถพิมพ์บนวัสดุต่าง ๆ อย่างผ้าฝ้าย,โพลีเอสเตอร์ , ผ้าTK, ผ้าTC, หนังสังเคราะห์, อะคริลิค, ไนลอน ฯลฯ

 

ความคุ้มค่าของการพิมพ์แบบ DST

การพิมพ์ด้วยวิธีใช้ฟิล์ม DST เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสำหรับแก้ปัญหางานสกรีนหลายสีที่ต้องใช้หลายบล็อกลดลงให้เหลือแค่บล็อกเดียวเท่านั้น เป็นขั้นตอนการพิมพ์โดยไม่ต้องตัดสติ๊กเกอร์ ไม่ต้องล็อกเหมือนเฟล็กซ์ การพิมพ์ด้วยฟิล์ม DST ในการพิมพ์ทำให้สามารถรับงานสกรีนหลายสีแม้จะมีลูกค้าสั่งจำนวนน้อยแค่ไหนก็ทำได้ โดยคุณสามารถออกแบบมากกว่าหนึ่งแบบบนแผ่นงาน ซึ่งจะช่วยทำให้การรับงานเล็กๆ ในระยะสั้นๆ ให้มีความคุ้มค่าคุ้มราคาในระยะสั้นได้ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความละเอียดของลวดลายที่มีสีสันสดใสและสีเต็มรูปแบบโดยยังคงความนุ่มนวล ทนทาน

 

ขั้นตอนการปริ้นท์ฟิล์ม DST กับเครื่อง Ricoh SP C260dnw

  • หลังจากที่เลือกภาพที่ต้องการแล้ว ก็ให้ไปที่เมนูแล้วก็สั่งปริ้นท์ตามปกติ โดยทำการเลือกเครื่องพิมพ์ก่อน
  • จากนั้นทำการใส่ฟิล์ม ซึ่งฟิล์มจะมีทั้งด้านเงาและด้านที่ไม่สะท้อนแสง เวลาใส่ฟิล์มก็ให้พลิกเอาด้านที่ไม่สะท้อนแสงขึ้นด้านบน
  • ทำการกดปริ้นท์ได้ทันทีโดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งข้อดีของการใช้เครื่องเลเซอร์ในการทำ DST คือความเร็วที่สามารถทำเวลาได้ประมาณ 10-15 แผ่นต่อนาที ภาพที่ได้จะมีความสวยงามคมชัด สังเกตได้ว่าสีของหมึกพิมพ์จะอยู่บนพื้นผิวของด้านที่มีลักษณะด้านๆ ของฟิล์ม

 

การเตรียมกาวสำหรับงานพิมพ์

ขั้นตอนต่อไปคือการนำฟิล์มไปทำการพิมพ์ตัวกาวขาว กาวใสแล้วก็โรยกาว แต่ก่อนอื่นจะต้องรู้จักกับสินค้าที่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับงาน DST คือ

  • สีขาวรองพื้นสำหรับงาน DST (DST White Base) ซึ่งเป็นตัวหลักที่ใช้สำหรับรองพื้น
  • กาวใสรีดร้อน DST (DST Clear Adhesive) ตัวนี้ก็ใช้เป็นรองพื้นเช่นกัน
  • กาวผงแบบละเอียดรีดร้อน DST (DST Hot Melt Powder) ขนาด 0-80 ไมครอน และแบบหยาบ ขนาด 0-170 ไมครอน

 

ซึ่งกาวทั้งสามชนิดนี้ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความจำเป็นทั้งสิ้น แม้กระทั่งตัวที่เป็นกาวหยาบและกาวละเอียด โดยจะขึ้นอยู่กับชิ้นงานและรูปแบบที่ต้องการทำออกมา สำหรับการสาธิตนี้เป็นการใช้กาวหยาบในการโรย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือฟิล์ม DST ที่ได้ปริ้นท์เตรียมไว้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้ว ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการปริ้นท์ภาพงานด้วยฟิล์ม DST ออกมาจากเครื่อง  Ricoh SP C260dnw แล้ว ก็ต้องทำอีกหนึ่งฟิล์มออกมาเพื่อนำมาถ่ายบล็อก ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำธรรมดาทั่วไป แค่ถ่ายออกมาให้ตรงกับลายที่เราต้องการเท่านั้นเอง

 

ขั้นตอนการใช้กาวสำหรับแผ่นฟิล์ม

  • หลังจากที่ทำการติดมาร์คไว้บนแท่นสกรีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้ทากาวและค่อยๆ วางแผ่นฟิล์มลงบนแท่นพิมพ์ โดยมาร์คที่ใช้ในการพิมพ์ให้ใช้สีตัวที่ใช้ในการพิมพ์มาร์คก็ได้ ซึ่งตอนที่ทำการถ่ายบล็อกก็ให้ถ่ายมาร์คออกมาด้วย

 

  • วางตัวบล็อกสกรีนให้ลายและมาร์คทั้งหมดตรงกัน โดยจะต้องเตรียมแปรงปาดหน้าตัดซึ่งเวลาใช้แล้วจะรู้สึกสบายกว่าแปรงปาดธรรมดาทั่วไป

 

  • ขั้นตอนต่อไปคือการลงสีขาว DST ลงบนฟิล์มโดยจะต้องคนให้เข้ากันก่อน เหมือนการทำบล็อกสกรีนทั่วไป สังเกตว่าสีขาว DST จะไม่เหลวไม่ข้นมากเกินไป จากนั้นเริ่มลงมือปาดโดยแปรงปาดหน้าตัดที่ตัวแปรงปาดถูกออกแบบมาให้เหมาะต่อการใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นมือจับสองข้าง และแบบมือจับในส่วนกลาง

 

  • ใช้ไดร์เป่าผมธรรมดาก็ได้เป่าให้ทั่วบล็อกแล้วเป่าให้แห้ง โดยเทคนิคของการไม่ต้องถ่ายบล็อกซ้ำสองใบคือ เป็นการใช้บล็อกอันเดิมแต่จะต้องล้างสีขาวออก แล้วก็พิมพ์สีใสซึ่งมันจะเหมือนกันทั้งสองบล็อก ทำให้เวลาพิมพ์อาจจะต้องวางหลายๆ ชิ้น หากมี 10 ชิ้น ก็พิมพ์สีขาวไปหนึ่งรอบแล้วก็ไดร์ให้แห้ง จากนั้นก็ล้างบล็อกสีขาวออกแล้วพิมพ์สีใสต่อก็ได้ เป็นการถ่ายบล็อกเดียวที่สามารถทำได้หลายสี

 

  • หลังจากที่สีขาวแห้งเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการพิมพ์กาวใส DST (DST Clear Adhesive) โดยตัวกาวใสนี้จะช่วยให้ตัวเนื้องาน DST ที่เวลารีดออกมาติดเสื้อแล้วจะช่วยให้สีติดเสื้อได้ยาวนานขึ้น และคงทนต่อการซักมากยิ่งขึ้น ทำการปาดจากตรงกลางประมาณ 2-3 ครั้ง

 

  • หลังจากปาดกาวใสเสร็จแล้วก็ต้องรีบยกพิมพ์ขึ้นมา โดยจะต้องอาศัยความเร็วหน่อย แต่ต้องระวังและค่อยๆยกฟิล์มขึ้นมาระหว่างที่กาวยังเปียกอยู่

 

  • วางแผ่นฟิล์มลงในถาดแล้วใช้ตัวที่เป็นกาวผงหยาบ DST เทลงไปที่ชิ้นงานให้ทั่ว จากนั้นเคาะกาวผงหยาบที่เหลือออกไป จากนั้นตากฟิล์มที่ทำเสร็จเมื่อสักครู่ให้แห้งก่อนประมาณ10 นาที โดยทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง  

 

  • หลังจากที่พิมพ์กาวสีขาว พิมพ์กาวใส และโรยผงกาวหยาบเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่สามารถนำไปใช้งานหรือพิมพ์ลงเสื้อได้ทันที เพราะจะต้องนำแผ่นฟิล์มเข้าเครื่องรีด โดยเอาด้านหน้าขึ้นเพื่อให้ตัวผงกาวละลาย จากปกติที่เคยใช้ไดร์หัวเหล็กไดร์ให้แห้ง ซึ่งมันอาจจะยากสักหน่อย แต่หากใช้เครื่องรีดทรานเฟอร์ก็จะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น

 

ขั้นตอนทำให้ผงกาวละลาย

  • ก่อนจะนำแผ่นฟิล์มเข้าเครื่องรีด ให้วางฟิล์มโดยให้ด้านที่มีกาวอยู่ด้านบน จากนั้นนำแผ่นเทฟล่อนสะอาดที่ใช้ทั่วไปในงานทรานเฟอร์ (หากไม่สะอาดจะทำให้สิ่งสกปรกเข้าไปติดอยู่ที่ด้านหน้าของกาว) จากนั้นวางแผ่นเทฟล่อนปิดทับไปที่ด้านบนของฟิล์มแล้วให้นำเข้าเครื่องรีดร้อนทันที โดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 125-130 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 10-12 วินาที (สามารถใช้เครื่องรีดธรรมดาก็ได้เช่นกัน) ที่สำคัญคือต้องเอาฝั่งด้านที่มีกาวขึ้น

 

  • เมื่อครบเวลาที่ตั้งไว้ ให้ลอกแผ่นเทฟล่อนออกจากแผ่นฟิล์มขณะที่ยังคงร้อนอยู่ จะสังเกตเห็นกาวที่ละลายแล้วมีความเรียบเนียนสวยงามไปกับแผ่นฟิล์ม พร้อมขายได้เลย ส่วนแผ่นฟิล์มก็ยังคงเรียบไม่มีรอยยับงอแต่อย่างใด

 

การเตรียมชิ้นงานสำหรับรีดลงเสื้อ

  • หากถ่ายบล็อกออกมาได้ตรงลายของชิ้นงาน จะทำให้ลายออกมาคมสวยงามขัดเจนไม่เห็นขอบสีขาว (หากมีสีขาวแลบออกมาถือเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากการถ่ายบล็อกไม่ตรง) หลังจากที่แผ่นฟิล์มแห้งแล้วให้ใช้กรรไกรตัดลายที่ต้องการออกจากแผ่นฟิล์ม

 

  • เตรียมเสื้อที่ต้องการสกรีน (สีดำ หรือสีที่ชอบ) นำมาสอดเข้ากับแท่นพิมพ์ โดยการรีดเพื่อปรับสภาพหน้าเสื้อก่อนซึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 วินาที ที่สำคัญคือพื้นผิวเสื้อที่จะทำการทรานเฟอร์จะต้องสะอาด

 

  • นำแผ่นฟิล์ม DST มาวางบนเสื้อในตำแหน่งที่ต้องการ โดยให้เอาด้านที่เป็นกาวคว่ำลงให้สัมผัสกับตัวเสื้อ แล้วนำเข้าเครื่องรีดร้อน โดยใช้อุณหภูมิที่ 130 องศาเซลเซียสประมาณ 12 วินาที (ตอนที่นำฟิล์มเข้าเครื่องครั้งแรกเพื่อให้กาวมันละลาย จะต้องลอกแผ่นเทฟล่อนออกจากแผ่นฟิล์มในขณะที่ยังร้อนอยู่ แต่หากต้องการลอกแผ่นฟิล์มออกจากเสื้อหลังจากที่นำเข้าเครื่องรีดร้อนแล้วจะต้องรอให้ฟิล์มเย็นก่อน)

 

ทริคคำแนะนำดีๆ

นำเสื้อที่รีดออกไปผึ่งด้านนอกเพื่อรอให้ชิ้นงานเย็น หากมีงานชิ้นอื่นๆ ก็สามารถใช้เครื่องรีดร้อนต่อไปได้ ส่วนวิธีเช็คว่าจะลอกแผ่นฟิล์มได้ช่วงไหน สามารถทำได้โดยการใช้มือสัมผัสที่เสื้อ หากเย็นแล้วก็จัดการลอกแผ่นฟิล์มออก จากนั้นนำเสื้อไปรีดซ้ำอีกรอบ โดยนำเสื้อวางในเครื่องรีดแล้วปิดทับด้านหน้าลายด้วยแผ่นเทฟล่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ลายสกรีนเสียหาย แล้วรีดซ้ำอีกครั้งประมาณ 5-8 วินาที จากที่ได้ทำการทดลองยืดเนื้อผ้าที่ผ่านการทรานเฟอร์ จะพบว่าไม่มีรอยแตก หลังจากยืดแล้วลายก็ยังสามารถหดกลับมาที่เดิม อีกทั้งยังคงความสวยงามอีกด้วย

 

เพียงเท่านี้ก็จะได้งานพิมพ์แบบ DST ที่ใช้เพียงแค่บล็อกเดียวแต่สามารถทำงานได้ไม่จำกัดสี อีกทั้งลายพิมพ์ที่ได้ก็จะมีความนุ่ม ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับผ้า Cotton, TK, TC,โพลีเอสเตอร์ ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีผงกาวตัวใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้กับพื้นผิวงานชนิดอื่นๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ้าไนล่อน ผ้ากันน้ำ ไม้ กระดาษ ฯลฯ

 

หากสนใจงาน DST และอุปกรณ์ ทาง SK ของเราพร้อมให้บริการครบทุกรายการ และสามารถสั่งเข้ามาได้ทันที โดย Inbox หรือ Line:  https://line.me/R/ti/p/%40skcolor

@skcolor (มี@ข้างหน้า)

skcolor

skcolor1

www.skcolorchem.comTel +66956655624

โทรศัพท์ : 095-805-7171  (สาขาสนามกีฬา), 083-414-4440  (สาขาบางบอน) และ 080-569-3888  (สาขาวัดสน) 

DST Package

Previous article เทคนิคการขึงบล็อกสกรีนให้ตึง
Next article อยากเปิดร้านพิมพ์เสื้อสไตล์เฟล็กซ์..ทำได้ไม่ยาก...ฉบับมือใหม่ต้องอ่าน!!