9 ขั้นตอนการถ่ายบล็อกเม็ดสกรีนสอดสีที่ถูกวิธี
กาวถ่ายบล็อกตามปกติแล้วจะนำมาใช้ในขั้นตอนที่จะทำแม่พิมพ์บนผ้าสกรีน ซึ่งเป็นการทำบล็อค หรือ ลายสกรีนโดยการฉาบกาวสำหรับถ่ายบล็อคสกรีนที่ผสมน้ำยาไวแสงเรียบร้อยแล้วจึงนำไปฉายแสง มาดูเทคนิคการถ่ายบล็อกแบบหลายๆ สีกับ 9 ขั้นตอนการถ่ายบล็อกเม็ดสกรีนสีที่ถูกวิธีกันดีกว่า
1.การเตรียมบล็อกสกรีน
การเตรียมบล็อกสกรีนโดยการทำความสะอาดผ้าสกรีน ก่อนการนำไปสู่กระบวนการต่อไปถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยจะเป็นการทำความสะอาดไขผ้าและฝุ่นละอองที่ติดตามผ้าสกรีน (สำหรับบล็อกใหม่) ซึ่งผ้าสกรีนที่ไม่สะอาดนั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาต่างๆได้ เช่น การยึดติดของกาวอัดไม่ทั่วพื้นที่ทั้งหมด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้กาวหลุดจนเกิดเป็นตามด ซึ่งจะต้องเสียเวลาในการแก้ไขใหม่โดยการอุดบล็อกหรืออาจจะต้องอัดบล็อกใหม่
สำหรับขั้นตอนในการทำความสะอาดผ้าสกรีน สามารถทำได้โดย ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำยาล้างไขผ้า จำนวน 2 ที่บิดให้หมาด แล้วนำผ้ามาประกบ หน้า-หลังของผ้าสกรีนที่ขึงอยู่บนบล็อก หลังจากนั้นให้ทำการขัดถูเป็นวงกลมโดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก เนื่องจากอาจจะส่งผลให้ผ้าสกรีนที่ขึงไว้แล้วหย่อนได้ จากนั้นใช้น้ำเปล่าฉีดล้างออกให้สะอาด แล้วนำไปตากให้แห้ง หรืออาจจะใช้เครื่องเป่าลมร้อนหรือเย็นให้แห้ง สำหรับการทำความสะอาดในขั้นตอนนี้ อาจจะเลือกใช้ทินเนอร์ทำความสะอาดแทนได้ แต่ก็ไม่นิยมใช้กัน เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารละลายโซเว้นท์ที่อาจจะทำลายโครงสร้างของผ้าสกรีนได้ ซึ่งผลที่ตามมาก็อาจจะส่งผลต่อความตึงของผ้าสกรีน ทำให้ไม่ทนทานต่อการใช้งาน นานๆ
2.การโค้ตกาวถ่ายบล็อก
โดยทั่วไปการผสมกาวถ่ายบล็อกกับน้ำยาไวแสงส่วนใหญ่จะใช้อัตราส่วนผสมที่ 10 ต่อ 1 หรือ 5 ต่อ 1 ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความข้นเหลวของกาวและความเข้มข้นของมวลสารในสารละลายไวแสง และที่สำคัญคือ จะต้องเลือกกาวถ่ายบล็อกให้เหมาะสมกับประเภทของสีที่ต้องการใช้ เช่น กาวถ่ายบล็อกสีชมพูเหมาะกับสีพิมพ์สูตรน้ำมัน หรือ กาวถ่ายบล็อกสีฟ้าและกาวถ่ายบล็อกสีม่วงนั้นจะเหมาะสำหรับสีพิมพ์สูตรน้ำ เป็นต้น กระบวนการผสมกาวอัดบล็อกกับน้ำยาไวแสงนี้ควรจะทำในห้องมืดหรือไฟสลัวที่ปราศจากแสงสีขาว โดยอาจจะเปลี่ยนไฟสีขาวเป็นไฟสีส้ม สีเหลืองหรือสีแดง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ไฟสีขาวมาทำปฏิกิริยากับกาวอัดบล็อกที่ผสมน้ำยาไวแสง
สำหรับกรณีที่ใช้เครื่องถ่ายบล็อกลมดูด โดยใช้หลอดไฟเมททัลฮาร์ไลท์ขนาด 3,000 วัตต์
- ส่วนผสมกาวถ่ายบล็อกกับน้ำยาไวแสง สำหรับบล็อกสกรีนที่ต้องการพิมพ์หลายสี
ประเภทกาวถ่าย |
อัตราส่วนกาว |
อัตราส่วนไวแสง |
เวลาที่จะใช้ |
กาวถ่ายบล็อกสีฟ้า |
100 กรัม |
8 กรัม |
1 นาที |
กาวถ่ายบล็อกสีม่วง |
100 กรัม |
10 กรัม |
1.2 นาที |
การถ่ายบล็อกสีชมพู |
100 กรัม |
7 กรัม |
1.5 นาที |
- ส่วนผสมกาวถ่ายบล็อกกับน้ำยาไวแสง สำหรับบล็อกสกรีนที่ต้องการพิมพ์ออฟเซ็ท
ประเภทกาวถ่าย |
อัตราส่วนกาว |
อัตราส่วนไวแสง |
เวลาที่จะใช้ |
กาวถ่ายบล็อกสีฟ้า |
100 กรัม |
10 กรัม |
50 วินาที |
กาวถ่ายบล็อกสีม่วง |
100 กรัม |
20 กรัม |
40 วินาที |
การถ่ายบล็อกสีชมพู |
100 กรัม |
13 กรัม |
60 วินาที |
เทคนิคการผสมกาวถ่ายบล็อกกับน้ำยาไวแสง
- การคนกาวอัดบล็อกควรจะผสมกาวโดยการคนเบาๆ ช้า ๆ และควรคนไปในทิศทางเดียวกันตลอดจนเสร็จ ไม่ควรคนย้อนไปมาเพราะจะทำให้ฟองอากาศเข้าไปในกาว และจำทำให้เกิดเป็นตามด
- ควรทำการผสมกาวและน้ำยาไวแสง ก่อนการใช้งาน 15 นาที เป็นอย่างน้อย หรือถ้าหากมีเวลาพอควรผสมแล้วทิ้งไว้อย่างน้อยประมาณ1-2ชั่วโมง เพื่อเป็นการไล่ฟองอากาศให้หมด ก่อนที่จะนำไปใช้งานได้
- สำหรับกาวที่ผสมน้ำยาไวแสงแล้วนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 7 วัน
- สำหรับกาวถ่ายบล็อกชนิดเดียวกัน สามารถปรับลดหรือเพิ่มน้ำยาไวแสงและเวลาได้ตามความต้องการได้ เช่น ถ้าใส่น้ำยาไวแสงมากเวลาที่ใช้ในการถ่ายบล็อกก็จะน้อยลง หรือถ้าใส่น้ำยาไวแสงน้อยก็ต้องเพิ่มเวลาในถ่ายบล็อก เป็นต้น
- ระยะห่างของหลอดไฟหรือแหล่งกำเนิดแสงกับกระจกนั้น ก็มีผลต่อการกำหนดอัตราส่วนของน้ำยาไวแสงและระยะเวลาถ่ายเช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้อาจจะต้องกำหนดขึ้นมาเองตามสัดส่วนที่ผกผันกัน
ขั้นตอนการโค้ตกาวถ่ายบล็อกลงบนผ้าสกรีน
หลังจากเตรียมกาวถ่ายบล็อกเรียบร้อยแล้ว ให้นำกรอบบล็อกสกรีนที่ขึงแล้ว ทำความสะอาด และตากจนแห้งสนิทดีแล้ว มาเตรียมทำการโค๊ตกาวตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เริ่มจากการนำบล็อกสกรีนที่ขึงผ้าเรียบร้อยแล้ว พิงกับอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ โดยวางกรอบบล็อกสกรีนให้เอียงทำมุมประมาณ 45-60 องศา
- นำกาวถ่ายบล็อกที่ผสมน้ำยากับน้ำยาไวแสงที่เตรียมไว้เทใสรางปาดกาว ให้เป็นแนวยาวตามรางปาดกาวที่เตรียมไว้
- นำรางปาดกาวแนบกับผ้าสกรีนด้านหลังบล็อกที่บริเวณด้านล่างของกรอบบล็อก แล้วเริ่มปาดจากด้านล่างไปหาด้านบน (ตามขั้นตอนในรูปภาพที่ 3-6) ทั้งนี้ในการปาดกาวควรจับรางปาดกาวแล้วกดน้ำหนักลงบนผ้าให้สมดุลตลอดแนว และเมื่อปาดเสร็จให้ช้อนกาวกลับเข้าไปในรางเช่นเดิม แล้วปาดซ้ำประมาณ 2-3 รอบ
- หลังจากนั้นให้พลิกบล็อกสกรีนด้านในบล็อกขึ้นมา แล้วนำรางปาดกาวที่ใส่กาวถ่ายบล็อกไว้แล้วปาดกาวลงไปเช่นเดียวกับข้อ 3 โดยปาดกาวอัดเพียง 1 รอบ (ตามขั้นตอนในรูปภาพที่
เทคนิคการโค๊ตกาวถ่ายบล็อกสกรีน
1. การโค้ตกาวถ่ายบล็อกจะต้องโค้ตกาวจากด้านหลังบล็อกก่อนด้านในบล็อก
2. การโค้ตกาวจะเริ่มโค้ตกาวจากด้านล่างขึ้นด้านบนเท่านั้น
3. การโค้ตกาวให้เรียบเนียน จะส่งผลดีในการถ่ายบล็อก
4. การโค๊ตกาวอัดบล็อกแต่ละครั้ง แม้ว่าจะปาดกาวอัดบล็อกกี่ครั้งก็ตาม จะต้องรอให้การอัดบล็อกที่ปาดอยู่ก่อนหน้านั้นแห้งสนิทเสียก่อน จึงจะทำการปาดกาวซ้ำได้
3.การอบบล็อกสกรีนก่อนถ่าย
หลังจากขั้นตอนการโค๊ตกาวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรอให้บล็อกสกรีนแห้งสนิทก่อน ในขั้นตอนการทำให้แห้งนั้น ควรวางกรอบบล็อกสกรีนให้อยู่ในแนวนอน โดยหงายด้านในขึ้นบนแล้วให้ด้านนอกอยู่ล่าง และต้องหาวัตถุมาหนุนกรอบทั้ง2ข้าง เพื่อกาวที่ฉาบไว้จะได้ไหลไปอยู่ด้านนอกมากกว่า เพราะเมื่อบล็อกแห้งดีแล้วกาวอัดจะหนาขึ้น ข้อควรระวังสำหรับตู้อบกรอบบล็อกสกรีนคือจะต้องอบในอุณหภูมิไม่เกิน 40องศาเซลเซียส หากเป็นการทำให้แห้งโดยใช้พัดลมเป่าจะต้องระวังไม่ให้ฝุ่นละอองปลิวมาติดกาวถ่าย เพราะอาจจะทำให้มีผลเสียต่อการถ่ายบล็อก แต่สำหรับบล็อกสกรีนออฟเซ็ทควรเป่าให้แห้งหมาดเท่านั้น เพราะถ้าเป่าให้แห้งมากจะไม่สามารถล้างลายออกได้ดี
วิธีอบบล็อกสกรีน
สำหรับบล็อกสกรีนหลายสีจะใช้เวลาอบบล็อกมากกว่าบล็อกสกรีนเม็ดสกรีนออฟเซ็ท
บล็อกสกรีน |
ความร้อนที่ใช้ |
เวลา |
หลายสี |
40°C |
20 นาที |
ออฟเซ็ท |
40°C |
นาที |
4.การวางตำแหน่งแบบในบล็อกสกรีน
การวางตำแหน่งลายลายที่ต้องการถ่ายในบล็อกสกรีนจะต้องวางลายนั้นๆ ให้ห่างจากกรอบด้านข้างทั้งสองด้านรวมทั้งด้านบนให้มีระยะมากกว่า 2.5 นิ้ว ส่วนระยะห่างด้านล่างควรเว้นให้ห่างอย่างต่ำ 4 นิ้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่าทุกตารางนิ้วของผ้าสกรีนที่ขึงบนบล็อกจะมีความตึงไม่เท่ากันอย่างทั่วทั้งผืน โดยบริเวณที่ใกล้กับกรอบจะมีความตึงสูงกว่าบริเวณพื้นที่ตรงส่วนกลางของบล็อก เพราะฉะนั้นจึงต้องกำหนดพื้นที่วางลายพิมพ์ในระยะที่เหมาะสม ซึ่งหากมีการการวางตำแหน่งลายพิมพ์ให้มีระยะชิดกรอบมากเกินไป อาจจะทำให้ลายพิมพ์สกรีนที่บริเวณใกล้กับกรอบเกิดการบิดเบี้ยวได้
5.การถ่ายบล็อกด้วยแสง
การถ่ายบล็อกด้วยแสงเป็นกระบวนการที่ทำให้ลำแสงจากหลอดไฟพุ่งผ่านฟิล์มที่บังไว้ เพื่อไปกระทบกับกาวถ่ายบล็อกที่เคลือบอยู่บนบล็อกสกรีน โดยแสงที่ตกกระทบนั้นจะส่งผลให้กาวบริเวณที่ถูกแสงแข็งตัว แต่ส่วนของกาวถ่ายบล็อกที่ถูกบังด้วยเงาดำของลายพิมพ์บนฟิล์มแสงจะไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ จึงทำให้กาวบริเวณนั้นไม่แข็งตัว
การถ่ายบล็อกสกรีนด้วยตู้แบบต่างๆ
1.การถ่ายบล็อกโดยใช้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงจุดเดียว หลอดที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงนี้ ได้แก่หลอดเมททัลฮาร์ไลด์ โดยหลอดชนิดนี้จะมีแสงที่พุ่งออกมาจะเป็นระเบียบ ซึ่งแสงจะสามารส่องเป็นมุมเฉียงเข้าไปในขอบฟิล์มดำได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นลวดลายที่ได้จึงคมชัดมากกว่าการถ่ายบล็อกจากหลอดที่มีแหล่งกำเนิดแสงหลายจุด และเนื่องจากแหล่งกำเนิดแสงชนิดนี้มีกำลังไฟสูง จึงไม่จำเป็นต้องใช้หลอดไฟหลายหลอด
2.การถ่ายบล็อกโดยใช้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงหลายจุด ซึ่งหลอดไปที่มีแหล่งกำเนิดแสงหลายจุดส่วนใหญ่จะเป็นหลอดที่มีกำลังไฟต่ำ จึงทำให้ต้องใช้หลอดหลายๆ หลอด เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งหลอดไฟชนิดนี้จะให้ลำแสงที่หักเหอย่างไม่เป็นระเบียบ และเมื่อมีหลายหลอดมารวมกัน จึงทำให้ลำแสงที่พุ่งออกมานั้นไม่เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุให้ลายพิมพ์ไม่คมชัด เนื่องจากแสงส่องเฉียงเข้าไปในขอบที่ฟิล์มดำบังอยู่มากขึ้นนั้นเอง
3.การถ่ายบล็อกด้วยเครื่องถ่ายบล็อกที่มีลมดูด (แบบแหล่งกำเนิดแสงหลายจุด) เนื่องจากการถ่ายบล็อกด้วยตู้ถ่ายบล็อกที่มีลมดูดนั้นจะทำให้แสงจะไม่สามารถหักเหได้เลย จึงทำให้ได้ลายบนบล็อกสกรีนที่คมชัดกว่า
4.การถ่ายบล็อกด้วยตู้ถ่ายบล็อกที่ไม่มีลมดูด (แบบแหล่งกำเนิดแสงหลายจุด) สำหรับตู้ถ่ายบล็อกที่ไม่มีลมดูดนั้น แสงจากแหน่งกำเหนิดแสงจะมีการสะท้อนหักเหไปมาได้ จึงเป็นผลทำให้บล็อกที่ได้ไม่คมชัด
วิธีการถ่ายบล็อกสกรีนหลายสีและออฟเซ็ท
- เช็ดเพื่อทำความสะอาดหน้ากระจกเครื่องถ่ายบล็อก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คราบสกปรกหรือฝุ่นละอองติดไปกับการถ่ายบล็อก
- จากนั้นนำหลักบังคับ 2 หลัก ไปวางบนหน้ากระจกให้บล็อกที่มีบังคับบล็อกแล้วสามารถสอดใส่ได้พอดี
- วางฟิล์มบนหน้ากระจกแล้วติดเทปใสกันฟิล์มเคลื่อน
- นำบล็อกที่ใส่บังคับบล็อกที่ผ่านการอบกาวแห้งแล้วมาวางหงายบนฟิล์ม ให้ตำแหน่งฟิล์มอยู่กึ่งกลางบล็อก โดยให้ส่วนล่างของลายห่างจากกรอบสกรีนมากกว่า 4 นิ้ว เสมอ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับพักสี
- ทำการปิดฝาเครื่องถ่ายบล็อก แล้วเปิดสวิทช์ลมดูดเพื่อให้บล็อกแนบกับกับฟิล์ม
- ตั้งเวลาในการถ่ายบล็อกตามชนิดของกาว โดยดูจากตารางเรื่องการผสมกาวและน้ำยาไวแสง
- นำบล็อกไปฉีดน้ำเพื่อล้างลาย
- ตัดมาร์คฟิล์มแผ่นแรกที่ถ่ายแล้วให้ค้างไว้ที่หน้ากระจก ต่อจากนั้นให้นำฟิล์มแผ่นต่อไปที่ต้องการถ่ายมาวาง โดยให้มาร์คของฟิล์มใหม่ทับมาร์คของฟิล์มเก่าให้สนิท
- นำบล็อกใบต่อไปใส่ในหลักบังคับที่หน้ากระจก แล้วทำตามขั้นตอนเดิม โดยการเปิดสวิทช์ลมดูด ตั้งเวลา และถ่ายแสง ทำเช่นเดียวกับการถ่ายบล็อกใบแรก และทำเช่นนี้จนกว่าจะครบทุกบล็อก
เทคนิคในการถ่ายบล็อกสกรีน
1. พบว่าแหล่งกำเนิดแสงจากหลอดเมลทัลฮาร์ไลด์จะให้ภาพที่คมชัดกว่าการถ่ายบล็อกที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์
2. เครื่องถ่ายบล็อกที่มีลมดูด จะช่วยให้ฟิล์มและบล็อกในเครื่องถ่ายบล็อกที่มีลมดูดจะแนบสนิทกันกระจก ทำให้ไม่เกิดการหักเหของแสง ภาพที่ถ่ายได้จึงคมชัดกว่าเครื่องถ่ายบล็อกที่ไม่มีลมดูด
3. จำนวนฟิล์มที่แยกสีออกมาจะเป็นตัวกำหนดจำนวนบล็อกที่จะต้องถ่าย
4. เวลาที่ใช้ในการถ่ายจะขึ้นอยู่กับขนาดของลาย เช่น ลายเล็กใช้เวลาถ่าย 10 วินาที ส่วนลายใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาถ่ายบล็อก 20 วินาที เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเช่นกัน
5. สำหรับลายที่มีรายละเอียดมากๆ จะใช้เวลาในการถ่ายน้อยกว่าลายที่มีรายละเอียดหยาบ ๆ
6. เนื่องจากเวลาในการถ่ายบล็อกแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรดูในเรื่องเวลาที่ใช้ในการถ่ายบล็อก จากตารางการผสมกาวกับน้ำยาไวแสงที่กล่าวมาก่อนหน้านี้
6.การล้างลาย
เป็นการล้างเอากาวถ่ายบล็อกที่ยังไม่ได้ทำปฏิกิริยากับแสง เนื่องจาถูกฟิล์มดำบังไว้ โดยการใช้น้ำฉีดออก โดยจะเหลือกาวเฉพาะบริเวณที่ทำปฏิกิริยากับแสงแล้ว กาวที่ถูกล้างออกไปจะเกิดเป็นลายฉลุโปร่ง จึงทำให้สีหรือหมึกพิมพ์สามารถลอดผ่านไปได้ โดยมีขั้นตอนการล้างลายดังต่อไปนี้
- อย่าเพิ่งเปิดไฟจนกว่าจะใช้น้ำชโลมบล็อกให้เปียกก่อน โดยจะสังเกตเห็นว่า บริเวณที่เป็นลายสกรีนเมื่อเปียกน้ำแล้วจะบวมขึ้น ใช้น้ำในเครื่องล้างบล็อกเพื่อล้างลายออก หรืออาจจะใช้กระบอกฉีดน้ำแทนก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำแรงมาก โดยให้ฉีดที่ด้านหลังบล็อกก่อน แล้วจึงกลับบล็อกมาฉีดอีกด้านหนึ่ง ทำการเปิดไฟหลังเครื่องล้างบล็อก เพื่อตรวจเช็คดูว่ากาวถ่ายบล็อกออกหมดแล้วหรือยัง ถ้ายังเห็นคราบกาวที่ไม่ถูกแสงเหลืออยู่ก็ให้ใช้กระบอกฉีดน้ำฉีดซ้ำได้ และไม่ควรใช้น้ำแรงในขั้นตอนนี้
- ทำการอบบล็อกให้แห้งสนิทด้วยเครื่องอบบล็อก โดยใช้ที่อุณหภูมิ 80-90°C เป็นเวลา 20 นาที ถ้าไม่มีเครืองอบสามารถใช้พัดลมหรือไดร์เป่าจนแห้งสนิท
เทคนิคเกี่ยวกับขั้นตอนการล้างลาย
1.หลังจากถ่ายบล็อกเสร็จแล้วไม่ควรเปิดไฟทันที เพราะแสงจากหลอดนีออนจะทำปฏิกิริยากับไวแสงของบล็อกต่อได้ ทั้งบริเวณที่โดนแสงแล้วในเครื่องถ่ายบล็อกและบริเวณที่ไม่ต้องการให้โดนแสง ซึ่งก็เป็นสาเหตุทำให้กาวแข็งตัวขึ้นได้
2.สำหรับการล้างลายที่เป็นงานเม็ดสกรีนออฟเซ็ท ควรใช้กระบอกฉีดน้ำฉีดออก แทนการใช้แรงน้ำจากหัวฉีดน้ำของเครื่องล้างบล็อก เนื่องจากแรงน้ำที่มากอาจจะทำให้กาวในส่วนที่ไม่ต้องการล้างลายหลุดออกมาได้
7.การเคลือบบล็อก
เป็นการเคลือบบล็อกด้วยสารเคมี เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเคลือบกาวอัดให้ติดกับผ้าสกรีนได้ดีขึ้น โดยแบ่งการเคลือบบล็อกเป็นสองวิธีดังนี้
- การเคลือบบล็อกแบบชั่วคราว โดยสวมถุงมือก่อนทำการเคลือบ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี นำผ้าที่ผ่านการชุบน้ำยาเคลือบบล็อกแล้ว เช็ดให้ทั่วทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของบล็อก หลังจากนั้นให้ทำการอบบล็อกให้แห้ง โดยใช้อุณหภูมิที่ 120°C เป็นเวลา 25 นาที แล้วจึงนำไปล้างน้ำ
- การเคลือบบล็อกแบบถาวร ทำการสวมถุงมือก่อนทำการเคลือบ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี ใช้ผ้าชุบน้ำยาไวแสง แล้วนำไปเช็ดบริเวณด้านหน้าและด้านหลังบล็อกให้ทั่ว ต่อจากนั้นให้นำไปอบให้แห้ง โดยใช้อุณหภูมิที่ 50°C เป็นเวลา 20 นาที แล้วจึงนำไปเข้าเครื่องถ่ายบล็อกอีกครั้ง โดยการถ่ายแสงทั้งสองข้าง โดยใช้เวลาข้างละ 10 วินาที แล้วจึงนำไปล้างน้ำออกให้สะอาด
เทคนิคการเคลือบบล็อก
1. การใช้น้ำยาเคลือบบล็อก เป็นการเคลือบบล็อกเพื่อให้บล็อกมีความทนต่อน้ำในการพิมพ์สกรีนสำหรับบล็อกที่ใช้กับสีพิมพ์สกรีนสูตรน้ำ
2. กาวถ่ายบล็อกสีชมพูเหมาะที่จะใช้ในการพิมพ์สกรีนสีน้ำมัน ซึ่งผ้าที่จะใช้สำหรับงานพิมพ์สีน้ำมันนั้นจะต้องมีความละเอียดของเส้นใย ซึ่งตัวของน้ำยาเคลือบบล็อกที่มีคุณสมบัติเป็นกรดนั้นอาจจะทำให้ผ้าสกรีนขาดได้ ดังนั้นกาวถ่ายบล็อกสีชมพูจึงไม่นิยมใช้กับน้ำยาเคลือบบล็อก แต่ถ้าต้องการเคลือบบล็อกเพื่อให้ทนทานมากขึ้น จึงใช้น้ำยาไวแสงเพื่อเคลือบบล็อกแทน
3. น้ำยาไวแสงเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดั้งนั้นในทุกขั้นตอนที่ต้องใช้น้ำยาไวแสง จึงต้องสวมถุงมือก่อนทุกครั้งที่จะสัมผัสกับน้ำยาโดยตรง
4. น้ำยาเคลือบบล็อกมีคุณสมบัติเป็นกรด และมีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่น เพื่อความปลอดภัย ต้องสวมถุงมือยางเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยากัดมือ
8. การเก็บความเรียบร้อยของบล็อกเพื่อเตรียมพิมพ์
สำหรับขั้นตอนนี้จะเป็นการเก็บรายละเอียดและความเรียบร้อยของกรอบบล็อก โดยการเก็บรอยแม็กช์ยิงให้เรียบร้อย ทั้งนี้ก็เพื่อเพื่อป้องกันไม่ให้คราบสีไปเกาะตามรอยแม็กช์ยิง ซึ่งอาจจะทำให้งานพิมพ์เปื้อนได้ รวมถึงการรักษาผ้าที่ถูกรอยแม็กช์ยิงขาดบางส่วนให้มีความคงทนขึ้น สำหรับงานที่ใช้กาวทากรอบบล็อก ก็ต้องเก็บงานที่กรอบให้เรียบร้อยเช่นกัน เพื่อความทนต่อน้ำมันและน้ำเช่นกัน
วิธีการติดเทป
1. ทำการติดด้านในทั้งสี่ด้าน โดยใช้เทป OPP สีน้ำตาล หรือกระดาษกาวน้ำขนาดกว้าง 2 นิ้ว ติดด้านในทั้งสี่ด้านก่อน โดยปิดให้เลยกรอบในของบล็อกสกรีน เข้าไปบริเวณที่ผ้าขึงไว้ประมาณ 1 นิ้ว (วิธีทำตามภาพที่ 1-8 ด้านล่าง) สำหรับเทปกาวหรือกระดาษที่ใช้ควรเลือกเป็นชนิดดีหรือเหนียวมาก เพราะบล็อกที่ทำงานเสร็จแล้วจะต้องใช้น้ำมันหรือน้ำล้างเป็นประจำ
2. ให้ทำการติดเทปหรือกระดาษด้านหลังบล็อกทั้งสี่มุม โดยให้ขอบของเทปหรือกระดาษด้านนี้ตรงกับอีกด้านหนึ่ง (วิธีทำตามภาพที่ 9-16 ด้านล่าง)
3. ขั้นตอนสุดท้าย ติดกรอบนอกทั้งสี่ด้านให้มิดชิด
9.การล้างกาวถ่ายบล็อกออก เพื่อนำบล็อกกลับมาใช้ใหม่
การล้างกาวถ่ายบล็อกออก เพื่อนำบล็อกกลับมาใช้ใหม่นี้สามารถทำได้เฉพาะบล็อกที่ยังไม่ได้เคลือบหรือบล็อกที่ผ่านการทำเคลือบแบบชั่วคราวมาเท่านั้น
วิธีการล้างกาวถ่ายบล็อกออก
- การล้างกาวถ่ายบล็อกด้วยผงล้างบล็อกสังเคราะห์ โดยการโรยผงล้างบล็อกลงบนพื้นผิวผ้า แล้วทำการล้างกาวถ่ายบล็อกออกได้เลย สามารถใช้มือเปล่าหรือสวมถุงมือยางก็ได้ สำหรับวิธีนี้ เนื่องจากผงล้างบล็อกเป็นสารล้างบล็อกที่มีความปลอดภัย ไม่มีกลิ่น ไม่กัดมือ แต่มีคุณสมบัติในการกัดกาวถ่ายบล็อกได้ดีมาก ช่วยให้บล็อกใสไม่เป็นฝ้าขาวที่เส้นใย
- การล้างกาวถ่ายบล็อกโดยใช้คลอรีน เริ่มจากการทำให้บล็อกสกรีนให้เปียกน้ำทั้งด้านหน้าและด้านหลังก่อน ต่อจากนั้นให้โรยคลอรีนให้ทั่วด้านในบล็อกเพียงด้านเดียว สวมถุงมือยางแล้วเกลี่ยคลอรีนให้ทั่ว โดยทิ้งไว้ประมาณ 25 นาที แล้วล้างน้ำออก ในขณะขัดถูควรสวมถุงมือยางด้วยเช่นกัน ถ้าพบปัญหาการเกิดฝ้าขาว ๆ ที่ผ้าสกรีน เนื่องมาจากการใช้คลอรีนแช่นานเกินไป สามารถใช้น้ำยาขัดบล็อกเช็ดออกได้
- การล้างกาวถ่ายบล็อกโดยใช้คลอรีนและโซดาไฟ โดยการผสมคลอรีนและโซดาไฟ ในอัตราส่วน 70 ต่อ 30 ให้เข้ากัน สวมถุงมือยางแล้วโรยส่วนผสมข้างต้นให้ทั่ว แล้วทำการเกลี่ยให้ทั่วบล็อก ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างน้ำออกควรสวมถุงมือยางขณะขัดถู
- หากพบคราบกาวถ่ายบล็อกหลงเหลือติดอยู่ ให้ใช้น้ำยาขัดบล็อกขัดคราบกาวออกเบา ๆ